22 กันยายน 2550

ฝันร้ายของวงการศึกษา


วันนี้มีโอกาสได้สนทนากับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่กำลังจะเกษียณอายุราชการท่านหนึ่งด้วยเรื่องสัพเพเหระ ช่วงหนึ่งมีการพูดถึงความตกต่ำของการศึกษาไทย ที่มักมีข่าวคราวในด้านลบมากมาย เช่น

- ทางด้านการประเมินมาตรฐานโรงเรียน ของ สมศ. ที่ระบุว่ามีโรงเรียน ICU อยู่ทั่วประเทศนับพันนับหมื่นโรงเรียน
- ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่ตกต่ำมาก ดูได้จากการประเมินของสำนักทดสอบฯ
- ด้านคุณธรรมจริยธรรมของนักเรียนที่ตกต่ำจนพูดไม่ออก ดูได้จากข่าวคราวการทะเลาะวิวาทของนักเรียนที่โหดเหี้ยมขึ้นทุกที ข่าวคราวที่ครูถูกนักเรียนใช้ไม้ตีที่ก้านคอ ฯลฯ
- ด้านคุณธรรมจริยธรรมของครูที่นับวันจะแย่ลง ดูได้จากข่าวการกระทำมิดีมิร้ายกับเด็ก ข่าวคราวการแก่งแย่งตำแหน่ง ให้ร้ายป้ายสี กันตามเว็บบอร์ด

ก็เลยได้คิดว่า ทั้งหลายทั้งปวงอาจจะไม่ถึงกับทำให้วงการศึกษาไทยล้มละลาย แต่ก็ต้องยอมรับกันว่าวงการศึกษาไทยเสื่อมถอยลงไปอย่างเห็นได้ชัด เสื่อมถอยยิ่งกว่ายุคใด ๆ ที่เคยมีมา เราเคยหวังว่าการปฏิรูปการศึกษาจะทำให้ทุกอย่างดีขึ้น การปรับโครงสร้างการบริหารงานเป็นเขตพื้นที่การศึกษาจะทำให้การศึกษาดีขึ้น แต่เท่าที่ผ่านมาถือได้ว่าเป็น ฝันร้ายของวงการศึกษา

ถ้าจะเปรียบโครงสร้างทางการศึกษาของไทย กับ สิ่งก่อสร้างเช่นคอนโดมิเนียม โรงเรียนก็เปรียบเสมือน ห้องพัก คุณครูและนักเรียนก็เปรียบเสมือนผู้อยู่อาศัยในห้องพัก สำนักงานเขตพื้นที่ฯ ก็เปรียบเสมือนผู้ดูแลห้องพัก

ขณะนี้คอนโดมิเนียมที่กล่าวถึงกำลังทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว เราจะโทษว่าการทรุดตัวของคอนโดนั้นเกิดจากผู้อยู่อาศัยไม่ขยันขันแข็ง ไม่ช่วยกันดูแลรักษาคอนโด กระนั้นหรือ ทำไมเราไปเคี่ยวเข็ญให้ผู้อยู่อาศัยทำงานให้หนักขึ้น เผื่อว่าการทรุดตัวของคอนโด จะหยุดและดีดตัวขึ้นสู่ภาวะปกติ

ทำไม ทำไม และทำไม เราไม่หันไปดูว่า วิศวกร ที่ออกแบบโครงสร้างคอนโดนั้น ได้ออกแบบถูกต้องหรือไม่ มีการคำนวณ หรือคาดคะเน ผิด ๆ หรือไม่ ผู้ออกแบบมีความรู้ความสามารถในการออกแบบจริงหรือไม่ ความผิดพลาดเกิดจากความไม่เดียงสา หรือเพราะคิดว่าข้าแน่ ไม่ยอมฟังใครของผู้ออกแบบหรือไม่

การที่คอนโดทรุดตัวลงนั้นย่อมเกิดได้จากเหตุเดียวคือโครงสร้างมีปัญหา ซึ่งน่าจะยอมรับว่าเราเดินมาผิดทาง หาทางปรับโครงสร้างใหม่ก่อนที่จะเสียหายไปมากกว่านี้ หรือเราจะแก้ปัญหาโดยการเอาขอนไม้มารองรับเพื่อป้องกันไม่ให้มันทรุดลงเท่านั้นหรือ

ได้ข่าวว่าจะมีการแก้ปัญหาแบบเอาขอนไม้ไปรองรับคอนโดที่ทรุด โดยการสั่งการให้บุคลากรที่สังกัดเขตพื้นที่ 1 ของบางจังหวัด รับผิดชอบดูแลโรงเรียนให้กว้างขวางขึ้นโดยให้รับผิดชอบในเขตตรวจราชการด้วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านวิชาการ

ครับ......เมื่อก่อนนี้โครงสร้างเค้าดีอยู่แล้วมีองค์กรที่รับผิดชอบระดับเขตการศึกษา ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ก็ไปยุบเค้าซะหมด เดือดร้อนกันถ้วนหน้า พอมาตอนนี้ก็จะสั่งให้ไปรับผิดชอบในรูแบบเดิม .....ก็เลยอยากถามว่า แล้วไปยุบเค้าทำไมให้วุ่นวาย ให้เดือนร้อน

ข้อผิดพลาดนี้ ถามว่า "ใครเป็นผู้รับผิดชอบ" หรือจะบอกว่า ไม่ต้องรับผิดชอบ เพราะการศึกษาไทย กำลังไปได้ดีอยู่แล้ว ก็ตามใจ ไม่ว่ากัน


21 สิงหาคม 2550

ประเทศไทยเดินเป็นวงกลม

ประเทศไทยเดินเป็นวงกลม

ตั้งใจจะรอดูผลการลงประชามติ อย่างเงียบ ๆ และก็รอดูว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร แต่อดคันไม้คันมือไม่ได้ เมื่อนั่งดูข่าวทางโทรทัศน์ ตั้งแต่เมื่อวาน (19 ก.ย.2550) จนถึงวันนี้ ผู้สื่อข่าวแต่ละช่องก็ไปตามผู้หลักผู้ใหญ่ (จะบอกว่าแก่ ๆ ก็เกรงใจ) ในวงการเมืองมาสัมภาษณ์ กันอุตลุด ดูบรรยากาศแล้วคล้าย ๆ กับเมื่อตอนผมเป็นเด็ก ประมาณว่า ม.ศ. 2-3 ก็ประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว บรรยากาศเหมือนกันเปี๊ยบเลย แต่ละกลุ่มการเมือง แต่ละพรรคการเมือง ก็ให้สัมภาษณ์กันออกมาในแนวทางเดิม ๆ เช่น ได้รวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีความคิดเห็นคล้าย ๆ กัน เพื่อมาช่วยชาติบ้านเมือง ขณะนี้ได้ทาบทางนาย ก นาย ข แล้ว ถ้าคุยกันรู้เรื่องก็จะสามารถรวมกันทำกิจกรรมทางการเมืองได้

ต่อไปเราคงมีรัฐบาลผสมประมาณ 5 พรรค กับอีก 20 มุ้ง ทุกพรรคมีนโยบายเหมือนกัน ตรงกัน สามารถร่วมงานกันทำได้ (เอ้อ! ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง มันจะอยู่คนละพรรค หา....อะไรวะ) แต่ละพรรคก็มีโควต้ากระทรวงต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ในมุ้ง มุ้งใหญ่ก็ได้กระทรวงเกรด A รองลงมาก็ได้ B C D ที่แน่ ๆ กระทรวงศึกษาคงเป็นเกรด E เหมือนเดิม

รัฐบาลบริหารงานไปสักพักก็เกิดความขัดแย้งกัน แล้วยุบสภา ตั้งรัฐบาลใหม่ ยุบสภา ตั้งรัฐบาลใหม่ สุดท้ายก็ ปฏิวัติ แล้วก็เริ่มกันใหม่อีก เหมือนกับประเทศไทยเดินทางเป็นวงกลมเลยครับ

ขอให้คนไทยทุกคนโชคดีนะครับ

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียน

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียน

ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทในการปฏิบัติงานในโรงเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ จนอาจกล่าวได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนในประเทศไทย ในทุกระดับ

ความจริงแล้วคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” มิได้หมายถึงเฉพาะคอมพิวเตอร์เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากคำจำกัดความของคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” (Infornation Technology )หมายถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดกระทำข้อมูลหรือประมวลผลข้อมูลให้ได้มาซึ่ง สารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสนเทศในโรงเรียนนั้น ควรคำนึงถึง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และให้เป็นประโยชน์สูงสุด ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นในระบบการศึกษาอาจแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ
2. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน

1. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร
การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ สถานศึกษาหรือโรงเรียนควรมีแนวทางในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสารสนเทศในอันที่จะก่อให้เกิดการตัดสินใจแก้ปัญหาในทางที่ถูกต้อง สามารถกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการที่มีข้อมูลสารสนเทศสนับสนุนมากกว่าการคาดเดา ข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสองส่วนด้วยกันคือ

1.1 ด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย ส่วนนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานของพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียน การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเป็นระบบเครือข่ายจะสามารถทำให้การจัดการข้อมูลในแต่ละส่วนของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบต้องสามารถถ่ายโอนข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์แม่ข่ายได้ การเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนนั้น จัดทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมและงบประมาณ ดังนั้นโรงเรียนควรมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องระบบเครือข่ายเพื่อให้คำปรึกษาหรือจัดวางระบบให้ได้มาตรฐาน และรองรับการขยายตัวของระบบเครือข่ายในอนาคต

รูปที่ 1 แนวทางการพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างง่าย

1.2 ด้านซอฟท์แวร์ สำหรับบริหารจัดการข้อมูล ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับระบบ เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายที่ดี แต่ถ้าไม่มีซอฟท์แวร์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ระบบสารสนเทศในโรงเรียนไม่เป็นไปตามความคาดหวัง จะไม่มีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

ซอฟท์แวร์ หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารงานที่ดีควรมีองค์ประกอบดังนี้
1.2.1 ควรเป็นโปรแกรมที่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกันในทุกฝ่ายงาน ผ่านระบบเครือข่าย
1.2.2 ควรเป็นโปรแกรมที่สามารถประมวลผลข้อมูลใหม่ได้ทันทีที่ต้องการ (Real Time)
1.2.3 ควรเป็นโปรแกรมที่สามารถนำข้อมูลของแต่ละฝ่ายงานมาประมวลผลเป็น สารสนเทศที่เอื้ออำนวยต่อการบริหารงานในโรงเรียน
1.2.4 ควรเป็นโปรแกรมที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลตามลำดับชั้นของผู้รับผิดชอบ

รูปที่ 2 แสดงการบริหารข้อมูลพื้นฐานนักเรียน และการเรียกใช้



ฐานข้อมูลที่โรงเรียนควรต้องดำเนินการจัดเก็บเป็นข้อมูลกลางที่ฝ่ายต่าง ๆ สามารถเรียกใช้ผ่านระบบเครือข่าย ควรมีข้อมูลต่อไปนี้

ก. ข้อมูลนักเรียน
ข. ข้อมูลบุคลากร
ค. ข้อมูลแผนงาน/โครงการ

สารสนเทศพื้นฐานที่จำเป็นต่อการบริหารงาน

ก. สารสนเทศเกี่ยวกับตัวนักเรียน เช่น
- สารสนเทศเกี่ยวสภาพครอบครัว
- สารสนเทศเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย
- สารรสนเทศเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
- ฯลฯ
ข. สารสนเทศเกี่ยวกับบุคลากร
- สารสนเทศเกี่ยวกับประวัติบุคลากร
- สารสนเทศเกี่ยวกับความชำนาญการ และเชี่ยวชาญ
- สารสนเทศเกี่ยวกับการฝึกอบรม
- ฯลฯ
ค. สารสนเทศเกี่ยวกับงานแผนงาน โครงการต่าง ๆ
- สารสนเทศเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการ
- สารสนเทศเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ
- สารสนเทศเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของงาน โครงการ

นอกจากนี้โรงเรียนอาจจัดระบบข้อมูลอื่น ๆ ตามความจำเป็น ให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่าโรงเรียนได้ดำเนินการให้บรรลุผลตามจุดประสงค์ ปรัชญา และวิสัยทัศน์ของโรงเรียนมากน้อยเพียงใด

2. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน
การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอนนี้ ต้องอาศัยนโยบายด้าน ICT ของโรงเรียน เพราะการนำเทคโนโลยีมาเพื่อการเรียนการสอนนั้นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง โดยโรงเรียนต้องดำเนินการให้มีวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการใช้งานในอัตราส่วนที่เหมาะสมและสะดวกในการใช้งาน กระจายสู่ห้องเรียน มากกว่ารวมอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และเน้นการใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และ สื่ออีเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

2.1 ด้านอุปกรณ์ (Hard ware)โรงเรียนจำเป็นต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ให้พอเพียงต่อการใช้งาน และกระจายลงสู่ห้องเรียน มากกว่ากระจุกอยู่ในห้องใดห้องหนึ่ง ซึ่งจะเอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์เพื่อนำเสนอผลงาน และศึกษาค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้ได้สะดวกและรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ควรจัดให้มีในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์)
ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์
ห้องปฏิบัติการทางภาษา (ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ)
ห้องปฏิบัติการศูนย์การเรียนรู้
ห้องสมุดสำหรับสืบค้นข้อมูล และใช้สื่อประเภทต่าง ๆ
ห้องเรียนอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน

2.2 ด้านสื่อการเรียนการสอน (Soft ware) โรงเรียนจำเป็นต้องจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสนับสนุนให้ครูใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหาบทเรียนที่สอน โดยจัดเป็นศูนย์บริการสื่อการเรียนการสอน ซึ่งสื่อด้านอีเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น สื่อประเภทคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สื่อประเภทสารคดี สื่อประเภทสถานการณ์จำลอง สื่อประเภทฝึกทักษะต่าง ๆ
2.3 ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากร ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเลือกใช้สื่อให้เหมาะสม การผลิตสื่อการเรียนการสอนด้วยตนเอง ส่งเสริมให้มีการวิจัย วิเคราะห์ การใช้สื่อประเภทต่าง ๆ
หวังว่าแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียนนี้ จะเป็นประโยชน์แก่โรงเรียนบ้าง หรืออย่างน้อยก็น่าจะไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละโรงเรียนได้

11 สิงหาคม 2550

อนาคตเด็กไทย ก้าวใหม่ในไซเบอร์ ตอน 2

อนาคตเด็กไทย ก้าวใหม่ในไซเบอร์ ตอน 2

ตั้งใจจะเขียนต่อตั้งแต่วันก่อน แต่บังเอิญมีเรื่องแทรก เป็นผลพวงจากการดู TV เรื่องผลไม้ราคาถูก เลยต้องออกความเห็นซะหน่อย พอหอมปากหอมคอ ตามประสาคนมือบอน (ไม่รู้ว่าใจบอนด้วยหรือเปล่า)

เข้าเรื่อง......ตบท้ายไว้ตอนก่อน ว่าจะเขียนถึงการเรียนการสอนของครู การบริหารงานของโรงเรียน จะเปลี่ยนไปให้ทันเทคโนโลยีได้อย่างไร
เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค. 2550 ได้มีโอกาสจัดอบรมปฏิบัติการเรื่องการใช้ Google Apps ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยเชิญผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับ Google Apps โดยตรง มีนามกรว่า ชีพธรรม คำวิเศษ มาเป็นวิยากร จากการได้นั่งฟังก็ทำให้รู้สึกว่าเราคงตามเทคโนโลยีไม่ทันเอาซะแล้ว ทั้ง ๆ ที่การงานในหน้าที่ มีหน้าที่ที่ต้องตามเทคโนโลยี หาแนวทางที่จะนำมาประยุกต์ใช้ให้ได้มากที่สุด.....

โดยปกติเราใช้ Google กันเพียงแค่ ค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ไม่เคยได้สนใจเรื่องอื่น ๆ ของ Google เลย ซึ่งจริง ๆ แล้ว Google มีมากกว่าที่เราเคยใช้ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารงานโรงเรียน และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นของฟรี

จะเกริ่นอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับการประยุกต์เอา Google Apps มาใช้ในโรงเรียน โดยแยกเป็น 2 ประเด็น คือ
1. สิ่งที่น่าจะนำมาใช้ในระบบการบริหารงานในโรงเรียน Googel มีระบบ e-Mail ให้ใช้ในนามของ gmail ซึ่งถ้าเป็นส่วนบุคคลก็ใช้เหมือนกับ mail ทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่มีมากกว่า mail ทั่ว ๆ ไปก็คือ โรงเรียนสามารถขอใช้ระบบ email ในนามของโรงเรียนได้ เช่น account@schoolname.ac.th และนำมาจัดเป็น group ให้กับนักเรียนและครูทั้งโรงเรียนได้ ผู้บริหารสามารถส่ง mail ทีเดียวให้แก่ครู แต่ละกลุ่ม หรือเลือกส่งเฉพาะกลุ่มได้ หรือสามารถใช้ docs&spreadsheet สำหรับจัดส่งเอกสารให้ครูหรือผู้ใดก็ได้โดยไม่ต้องแนบไฟล์เหมือนแต่ก่อน อีกทั้งยังสามารถกำหนดสิทธิ์ให้ผู้รับได้แก้เอกสารนั้น ๆ ได้อีกด้วย ผู้บริหารหรือครู สามารถใช้ calenda หรือปฏิทิน เพื่อบันทึกรายการปฏิบัติงานต่าง ๆ พร้อมทั้งสามารถแชร์ ให้ผู้อื่นดูได้ด้วยว่าในแต่ละเดือนแต่ละวันมีงานอะไรต้องทำ วันไหนว่าง วันไหนไม่ว่าง ทุกอย่างอยู่บนอินเทอร์เน็ต ไม่มีกระดาษ ไม่มีไฟล์ที่ต้องแนบ ไม่ต้องใช้ HandyDrive มาเสียบเครื่องอีกต่อไป ปลอดภัยจากไวรัสทั้งปวง แถมยังสามารถสร้าง weblog แสดงวิสัยทัศน์ทางด้านบริหารได้อีกด้วย

2. การประยุกต์ใช้สำหรับการเรียนการสอน ครูสามารถฝึกผนให้นักเรียนทำงานอย่างเป็นระบบ มีระบบการจัดการ email ให้แก่นักเรียนทุกคน โดยสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นระดับชั้น เป็นรายวิชา ตามที่ต้องการได้ มีระบบการจัดทำเอกสาร docs&spreadsheet มีปฏิทิน บันทึกการปฏิบัติงาน นักเรียนและครูสามารถสร้างแหล่งเรียนรู้ของตนเองได้ผ่าน weblog สามารถแชร์ความรู้กันได้ มีระบบการ Chat และ Talk ที่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าเพื่อนจะไม่ได้ Online ก็สามารถฝากข้อความหรือคำพูดไว้ที่ระบบ และผู้ที่เราส่งข้อความจะได้รับเมื่อ Online นี่ยังไม่หมดนะครับแต่ขอประชาสัมพันธ์แค่นี้ก่อน

ทั้ง 2 ประเด็นที่กล่าวมา นับว่าจะให้ประโยชน์แก่วงการศึกษาเป็นอย่างมาก ถ้าเรามีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ดี หรือมีครูที่รับผิดชอบทางด้านคอมพิวเตอร์ หรือ ICT ที่มีความมุ่งมั่นจะพัฒนางานในโรงเรียน

ผมประเมินไว้ว่า อีก 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะนำระบบ Online มาเป็นฐานในการปฏิบัติงานมากขึ้นจนถึง 80-90 % ของงานทั้งหมด และก็เชื่อว่าภาคเอกชน 90 % จำนำระบบลักษณะนี้มาใช้ในการบริหารงานของตนเอง ถ้าเราไม่พัฒนาหรือฝึกให้นักเรียนของเราคุ้นเคยกับระบบดังกล่าว อะไรจะเกิดขึ้นกับอนาคตของชาติ ทุกวันนี้เราก็เฝ้ามองประเทศเพื่อนบ้านเค้าเจริญไปอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเวียดนาม ที่กำลังดีวันดีคืน และทิ้งห่างออกไปทุกที

ในตอนต้นได้เอ่ยนามถึงคุณ ชีพธรรม คำวิเศษ ท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นใคร และถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้โดเมนเนมของโรงเรียนในรูป .ac.th ก็ลองเข้าไปดูได้ที่ thaiventureblog.blogspot.com และ thaiventure.com

สวัสดีครับ