21 สิงหาคม 2550

ประเทศไทยเดินเป็นวงกลม

ประเทศไทยเดินเป็นวงกลม

ตั้งใจจะรอดูผลการลงประชามติ อย่างเงียบ ๆ และก็รอดูว่าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร แต่อดคันไม้คันมือไม่ได้ เมื่อนั่งดูข่าวทางโทรทัศน์ ตั้งแต่เมื่อวาน (19 ก.ย.2550) จนถึงวันนี้ ผู้สื่อข่าวแต่ละช่องก็ไปตามผู้หลักผู้ใหญ่ (จะบอกว่าแก่ ๆ ก็เกรงใจ) ในวงการเมืองมาสัมภาษณ์ กันอุตลุด ดูบรรยากาศแล้วคล้าย ๆ กับเมื่อตอนผมเป็นเด็ก ประมาณว่า ม.ศ. 2-3 ก็ประมาณ 30 กว่าปีมาแล้ว บรรยากาศเหมือนกันเปี๊ยบเลย แต่ละกลุ่มการเมือง แต่ละพรรคการเมือง ก็ให้สัมภาษณ์กันออกมาในแนวทางเดิม ๆ เช่น ได้รวมคนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน มีความคิดเห็นคล้าย ๆ กัน เพื่อมาช่วยชาติบ้านเมือง ขณะนี้ได้ทาบทางนาย ก นาย ข แล้ว ถ้าคุยกันรู้เรื่องก็จะสามารถรวมกันทำกิจกรรมทางการเมืองได้

ต่อไปเราคงมีรัฐบาลผสมประมาณ 5 พรรค กับอีก 20 มุ้ง ทุกพรรคมีนโยบายเหมือนกัน ตรงกัน สามารถร่วมงานกันทำได้ (เอ้อ! ถ้ามันเป็นอย่างนั้นจริง มันจะอยู่คนละพรรค หา....อะไรวะ) แต่ละพรรคก็มีโควต้ากระทรวงต่าง ๆ ขึ้นอยู่กับจำนวน ส.ส.ในมุ้ง มุ้งใหญ่ก็ได้กระทรวงเกรด A รองลงมาก็ได้ B C D ที่แน่ ๆ กระทรวงศึกษาคงเป็นเกรด E เหมือนเดิม

รัฐบาลบริหารงานไปสักพักก็เกิดความขัดแย้งกัน แล้วยุบสภา ตั้งรัฐบาลใหม่ ยุบสภา ตั้งรัฐบาลใหม่ สุดท้ายก็ ปฏิวัติ แล้วก็เริ่มกันใหม่อีก เหมือนกับประเทศไทยเดินทางเป็นวงกลมเลยครับ

ขอให้คนไทยทุกคนโชคดีนะครับ

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียน

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียน

ปัจจุบันระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เข้ามามีบทบาทในการปฏิบัติงานในโรงเรียนมากขึ้น โดยเฉพาะการใช้คอมพิวเตอร์ เป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รวมทั้งสื่อสารประชาสัมพันธ์ จนอาจกล่าวได้ว่าคอมพิวเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนในประเทศไทย ในทุกระดับ

ความจริงแล้วคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” มิได้หมายถึงเฉพาะคอมพิวเตอร์เท่านั้น ดังจะเห็นได้จากคำจำกัดความของคำว่า “เทคโนโลยีสารสนเทศ” (Infornation Technology )หมายถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดกระทำข้อมูลหรือประมวลผลข้อมูลให้ได้มาซึ่ง สารสนเทศ ทำให้สารสนเทศมีประโยชน์และใช้งานได้กว้างขวางมากขึ้น การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสนเทศในโรงเรียนนั้น ควรคำนึงถึง ความเหมาะสม ความเป็นไปได้ และให้เป็นประโยชน์สูงสุด ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็นในระบบการศึกษาอาจแบ่งได้ออกเป็น 2 ส่วน คือ

1. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ
2. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน

1. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร
การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการ สถานศึกษาหรือโรงเรียนควรมีแนวทางในการดำเนินการให้ได้มาซึ่งสารสนเทศในอันที่จะก่อให้เกิดการตัดสินใจแก้ปัญหาในทางที่ถูกต้อง สามารถกำหนดเป็นแผนปฏิบัติการที่มีข้อมูลสารสนเทศสนับสนุนมากกว่าการคาดเดา ข้อมูลสารสนเทศดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศสองส่วนด้วยกันคือ

1.1 ด้านอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และระบบเครือข่าย ส่วนนี้ถือว่าเป็นพื้นฐานของพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียน การเชื่อมโยงคอมพิวเตอร์เข้าด้วยกันเป็นระบบเครือข่ายจะสามารถทำให้การจัดการข้อมูลในแต่ละส่วนของโรงเรียนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในระบบต้องสามารถถ่ายโอนข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์แม่ข่ายได้ การเชื่อมโยงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนนั้น จัดทำได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมและงบประมาณ ดังนั้นโรงเรียนควรมีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องระบบเครือข่ายเพื่อให้คำปรึกษาหรือจัดวางระบบให้ได้มาตรฐาน และรองรับการขยายตัวของระบบเครือข่ายในอนาคต

รูปที่ 1 แนวทางการพัฒนาระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์อย่างง่าย

1.2 ด้านซอฟท์แวร์ สำหรับบริหารจัดการข้อมูล ส่วนนี้เป็นส่วนที่สำคัญมากสำหรับระบบ เพราะถึงแม้ว่าเราจะมีคอมพิวเตอร์และระบบเครือข่ายที่ดี แต่ถ้าไม่มีซอฟท์แวร์สำหรับบริหารจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้ระบบสารสนเทศในโรงเรียนไม่เป็นไปตามความคาดหวัง จะไม่มีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพในการตัดสินใจแก้ปัญหาที่ถูกต้อง

ซอฟท์แวร์ หรือ โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับการบริหารงานที่ดีควรมีองค์ประกอบดังนี้
1.2.1 ควรเป็นโปรแกรมที่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่เป็นหนึ่งเดียวกันในทุกฝ่ายงาน ผ่านระบบเครือข่าย
1.2.2 ควรเป็นโปรแกรมที่สามารถประมวลผลข้อมูลใหม่ได้ทันทีที่ต้องการ (Real Time)
1.2.3 ควรเป็นโปรแกรมที่สามารถนำข้อมูลของแต่ละฝ่ายงานมาประมวลผลเป็น สารสนเทศที่เอื้ออำนวยต่อการบริหารงานในโรงเรียน
1.2.4 ควรเป็นโปรแกรมที่มีระบบรักษาความปลอดภัยของข้อมูล และกำหนดสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลตามลำดับชั้นของผู้รับผิดชอบ

รูปที่ 2 แสดงการบริหารข้อมูลพื้นฐานนักเรียน และการเรียกใช้



ฐานข้อมูลที่โรงเรียนควรต้องดำเนินการจัดเก็บเป็นข้อมูลกลางที่ฝ่ายต่าง ๆ สามารถเรียกใช้ผ่านระบบเครือข่าย ควรมีข้อมูลต่อไปนี้

ก. ข้อมูลนักเรียน
ข. ข้อมูลบุคลากร
ค. ข้อมูลแผนงาน/โครงการ

สารสนเทศพื้นฐานที่จำเป็นต่อการบริหารงาน

ก. สารสนเทศเกี่ยวกับตัวนักเรียน เช่น
- สารสนเทศเกี่ยวสภาพครอบครัว
- สารสนเทศเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย
- สารรสนเทศเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
- ฯลฯ
ข. สารสนเทศเกี่ยวกับบุคลากร
- สารสนเทศเกี่ยวกับประวัติบุคลากร
- สารสนเทศเกี่ยวกับความชำนาญการ และเชี่ยวชาญ
- สารสนเทศเกี่ยวกับการฝึกอบรม
- ฯลฯ
ค. สารสนเทศเกี่ยวกับงานแผนงาน โครงการต่าง ๆ
- สารสนเทศเกี่ยวกับการดำเนินงานตามแผนงาน โครงการ
- สารสนเทศเกี่ยวกับการใช้งบประมาณ
- สารสนเทศเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ของงาน โครงการ

นอกจากนี้โรงเรียนอาจจัดระบบข้อมูลอื่น ๆ ตามความจำเป็น ให้สามารถตอบโจทย์ได้ว่าโรงเรียนได้ดำเนินการให้บรรลุผลตามจุดประสงค์ ปรัชญา และวิสัยทัศน์ของโรงเรียนมากน้อยเพียงใด

2. เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอน
การพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการเรียนการสอนนี้ ต้องอาศัยนโยบายด้าน ICT ของโรงเรียน เพราะการนำเทคโนโลยีมาเพื่อการเรียนการสอนนั้นต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง โดยโรงเรียนต้องดำเนินการให้มีวัสดุอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อการใช้งานในอัตราส่วนที่เหมาะสมและสะดวกในการใช้งาน กระจายสู่ห้องเรียน มากกว่ารวมอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง และเน้นการใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และ สื่ออีเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความเข้าใจ และทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งมีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้

2.1 ด้านอุปกรณ์ (Hard ware)โรงเรียนจำเป็นต้องจัดหาวัสดุอุปกรณ์โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ให้พอเพียงต่อการใช้งาน และกระจายลงสู่ห้องเรียน มากกว่ากระจุกอยู่ในห้องใดห้องหนึ่ง ซึ่งจะเอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ส่งเสริมให้นักเรียนได้มีโอกาสใช้อุปกรณ์เพื่อนำเสนอผลงาน และศึกษาค้นคว้าจากแหล่งเรียนรู้ได้สะดวกและรวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์
อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่ควรจัดให้มีในห้องปฏิบัติการต่าง ๆ
ห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ (เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์)
ห้องปฏิบัติการคณิตศาสตร์
ห้องปฏิบัติการทางภาษา (ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ)
ห้องปฏิบัติการศูนย์การเรียนรู้
ห้องสมุดสำหรับสืบค้นข้อมูล และใช้สื่อประเภทต่าง ๆ
ห้องเรียนอื่น ๆ ตามความเหมาะสมของแต่ละโรงเรียน

2.2 ด้านสื่อการเรียนการสอน (Soft ware) โรงเรียนจำเป็นต้องจัดหาสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพและสนับสนุนให้ครูใช้สื่อการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับเนื้อหาบทเรียนที่สอน โดยจัดเป็นศูนย์บริการสื่อการเรียนการสอน ซึ่งสื่อด้านอีเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีหลากหลายรูปแบบ เช่น สื่อประเภทคอมพิวเตอร์ช่วยสอน สื่อประเภทสารคดี สื่อประเภทสถานการณ์จำลอง สื่อประเภทฝึกทักษะต่าง ๆ
2.3 ส่งเสริมสนับสนุนให้บุคลากร ได้มีโอกาสพัฒนาตนเองในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การเลือกใช้สื่อให้เหมาะสม การผลิตสื่อการเรียนการสอนด้วยตนเอง ส่งเสริมให้มีการวิจัย วิเคราะห์ การใช้สื่อประเภทต่าง ๆ
หวังว่าแนวคิดในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศในโรงเรียนนี้ จะเป็นประโยชน์แก่โรงเรียนบ้าง หรืออย่างน้อยก็น่าจะไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละโรงเรียนได้

11 สิงหาคม 2550

อนาคตเด็กไทย ก้าวใหม่ในไซเบอร์ ตอน 2

อนาคตเด็กไทย ก้าวใหม่ในไซเบอร์ ตอน 2

ตั้งใจจะเขียนต่อตั้งแต่วันก่อน แต่บังเอิญมีเรื่องแทรก เป็นผลพวงจากการดู TV เรื่องผลไม้ราคาถูก เลยต้องออกความเห็นซะหน่อย พอหอมปากหอมคอ ตามประสาคนมือบอน (ไม่รู้ว่าใจบอนด้วยหรือเปล่า)

เข้าเรื่อง......ตบท้ายไว้ตอนก่อน ว่าจะเขียนถึงการเรียนการสอนของครู การบริหารงานของโรงเรียน จะเปลี่ยนไปให้ทันเทคโนโลยีได้อย่างไร
เมื่อวันที่ 4-5 ส.ค. 2550 ได้มีโอกาสจัดอบรมปฏิบัติการเรื่องการใช้ Google Apps ที่โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โดยเชิญผู้สันทัดกรณีเกี่ยวกับ Google Apps โดยตรง มีนามกรว่า ชีพธรรม คำวิเศษ มาเป็นวิยากร จากการได้นั่งฟังก็ทำให้รู้สึกว่าเราคงตามเทคโนโลยีไม่ทันเอาซะแล้ว ทั้ง ๆ ที่การงานในหน้าที่ มีหน้าที่ที่ต้องตามเทคโนโลยี หาแนวทางที่จะนำมาประยุกต์ใช้ให้ได้มากที่สุด.....

โดยปกติเราใช้ Google กันเพียงแค่ ค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ไม่เคยได้สนใจเรื่องอื่น ๆ ของ Google เลย ซึ่งจริง ๆ แล้ว Google มีมากกว่าที่เราเคยใช้ และสามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการบริหารงานโรงเรียน และปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นของฟรี

จะเกริ่นอย่างคร่าว ๆ เกี่ยวกับการประยุกต์เอา Google Apps มาใช้ในโรงเรียน โดยแยกเป็น 2 ประเด็น คือ
1. สิ่งที่น่าจะนำมาใช้ในระบบการบริหารงานในโรงเรียน Googel มีระบบ e-Mail ให้ใช้ในนามของ gmail ซึ่งถ้าเป็นส่วนบุคคลก็ใช้เหมือนกับ mail ทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่มีมากกว่า mail ทั่ว ๆ ไปก็คือ โรงเรียนสามารถขอใช้ระบบ email ในนามของโรงเรียนได้ เช่น account@schoolname.ac.th และนำมาจัดเป็น group ให้กับนักเรียนและครูทั้งโรงเรียนได้ ผู้บริหารสามารถส่ง mail ทีเดียวให้แก่ครู แต่ละกลุ่ม หรือเลือกส่งเฉพาะกลุ่มได้ หรือสามารถใช้ docs&spreadsheet สำหรับจัดส่งเอกสารให้ครูหรือผู้ใดก็ได้โดยไม่ต้องแนบไฟล์เหมือนแต่ก่อน อีกทั้งยังสามารถกำหนดสิทธิ์ให้ผู้รับได้แก้เอกสารนั้น ๆ ได้อีกด้วย ผู้บริหารหรือครู สามารถใช้ calenda หรือปฏิทิน เพื่อบันทึกรายการปฏิบัติงานต่าง ๆ พร้อมทั้งสามารถแชร์ ให้ผู้อื่นดูได้ด้วยว่าในแต่ละเดือนแต่ละวันมีงานอะไรต้องทำ วันไหนว่าง วันไหนไม่ว่าง ทุกอย่างอยู่บนอินเทอร์เน็ต ไม่มีกระดาษ ไม่มีไฟล์ที่ต้องแนบ ไม่ต้องใช้ HandyDrive มาเสียบเครื่องอีกต่อไป ปลอดภัยจากไวรัสทั้งปวง แถมยังสามารถสร้าง weblog แสดงวิสัยทัศน์ทางด้านบริหารได้อีกด้วย

2. การประยุกต์ใช้สำหรับการเรียนการสอน ครูสามารถฝึกผนให้นักเรียนทำงานอย่างเป็นระบบ มีระบบการจัดการ email ให้แก่นักเรียนทุกคน โดยสามารถแบ่งเป็นหมวดหมู่ เป็นระดับชั้น เป็นรายวิชา ตามที่ต้องการได้ มีระบบการจัดทำเอกสาร docs&spreadsheet มีปฏิทิน บันทึกการปฏิบัติงาน นักเรียนและครูสามารถสร้างแหล่งเรียนรู้ของตนเองได้ผ่าน weblog สามารถแชร์ความรู้กันได้ มีระบบการ Chat และ Talk ที่มีประสิทธิภาพ ถึงแม้ว่าเพื่อนจะไม่ได้ Online ก็สามารถฝากข้อความหรือคำพูดไว้ที่ระบบ และผู้ที่เราส่งข้อความจะได้รับเมื่อ Online นี่ยังไม่หมดนะครับแต่ขอประชาสัมพันธ์แค่นี้ก่อน

ทั้ง 2 ประเด็นที่กล่าวมา นับว่าจะให้ประโยชน์แก่วงการศึกษาเป็นอย่างมาก ถ้าเรามีผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ดี หรือมีครูที่รับผิดชอบทางด้านคอมพิวเตอร์ หรือ ICT ที่มีความมุ่งมั่นจะพัฒนางานในโรงเรียน

ผมประเมินไว้ว่า อีก 5-10 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะนำระบบ Online มาเป็นฐานในการปฏิบัติงานมากขึ้นจนถึง 80-90 % ของงานทั้งหมด และก็เชื่อว่าภาคเอกชน 90 % จำนำระบบลักษณะนี้มาใช้ในการบริหารงานของตนเอง ถ้าเราไม่พัฒนาหรือฝึกให้นักเรียนของเราคุ้นเคยกับระบบดังกล่าว อะไรจะเกิดขึ้นกับอนาคตของชาติ ทุกวันนี้เราก็เฝ้ามองประเทศเพื่อนบ้านเค้าเจริญไปอย่างก้าวกระโดด โดยเฉพาะเวียดนาม ที่กำลังดีวันดีคืน และทิ้งห่างออกไปทุกที

ในตอนต้นได้เอ่ยนามถึงคุณ ชีพธรรม คำวิเศษ ท่านอาจจะสงสัยว่าเป็นใคร และถ้าต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้โดเมนเนมของโรงเรียนในรูป .ac.th ก็ลองเข้าไปดูได้ที่ thaiventureblog.blogspot.com และ thaiventure.com

สวัสดีครับ

08 สิงหาคม 2550

เทศกาลผลไม้ราคาถูก

ถู๊ก ถูก

ทีแรกว่าจะเขียนเรื่อง "อนาคตเด็กไทย ก้าวใหม่ในไซเบอร์" ตอน 2 แ่ต่บังเอิญวันนี้ (7 ส.ค.50) ดูรายการโทรทัศน์รายการที่คุณจอม เพชรประดับ ดำเนินรายการ (ปกติไม่ค่อยได้ดู แต่ ติดใจตั้งแต่คุณ สมัคร มาออกรายการครั้งก่อน)

วันนี้่พูดกันถึงเรื่อง ผลไม้เมืองไทยตอนนี้ราคาถูกมาก ดูไปก็ทำงานไป เลยไม่ได้ใส่ใจว่าผู้ที่มาออกรายการเป็นใคร รู้แต่ว่ามีฝ่ายหนึ่งเป็น ภาครัฐ ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ กับ อีกฝ่ายคือเจ้าของสวนผลไม้

พอจับใจความได้ว่า "ที่ผลไม้มันถูกทั้งประเทศเช่นนี้ หาเป็นความผิดของรัฐบาลไม่ แต่เป็นเพราะผลไม้มันมีมาก มันก็เลยถูก"
ผมคิดว่า
คนที่ได้ดูรายการก็คงมีความรู้สึกเหมือน ๆ กันว่า ถ้าผู้รับผิดชอบภาครัฐ คิดอย่างนี้ ชาวสวนของเราคงตายแน่ ๆ ฟังแล้วแค้นแทนเจ้าของสวน

ทำไมภาครัฐ ไม่รู้เลยหรือว่า ช่วงไหนผลไม้อะไรจะออกสู่ตลาด แล้วไม่รู้เลยหรือว่าแต่ละปีมันจะออกดอกออกผลมากน้อยแค่ไหน ทำอย่างกับว่าผลไม้มันออกดอกวันนี้ แล้วพรุ่งนี้มันเป็นผลแล้วสุกแค่ข้ามคืน ทำให้เตรียมการไม่ทัน

ผลไม่แต่ละอย่างเช่น มังคุด ทุเรียน ลองกอง ลำใย ก็รู้อยู่แล้วว่ามันจะออกดอกออกผลเดือนไหน แล้วเมื่อออกดอกจะใช้เวลากี่วันจึงจะนำออกสู่ตลาดได้ ทำไมไม่เตรียมตลาดให้รองรับ ผมไม่เคยได้ข่าวรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ ทั้งเกษตร และพาณิชย์ ไปหาตลาดต่างประเทศเลย ทำอะไำรกันอยู่ไม่รู้ ปล่อยให้ชาวสวนเจ้งกันเป็นแถบ

ลำใย เกรดดีที่สุดกิโลละ 8 บาท โอ้โฮ อะไรจะถูกปานนั้น ขายลำใย 1 กิโล แลกกับโทรศัพท์ได้ไม่ถึง 5 นาที
ลองกอง กิโลละ 10 บาท แถมไม่มีใครกล้าเข้าไปซื้อ

ชาวสวนทั้งหลายทำใจกันได้ไม๊เนี่ยะ.......




07 สิงหาคม 2550

อนาคตเด็กไทย ก้าวใหม่ในไซเบอร์


อนาคตเด็กไทย ก้าวใหม่ในไซเบอร์
ท่านเคยนึกสงสัยบ้างหรือไม่ว่า ในอนาคตอีกสักประมาณ 10 ปีข้างหน้า เด็กยุคใหม่ จะมีวิถีชีวิต และวิธีการเรียนรู้ เปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันไปมากน้อยแค่ไหน หลายท่านอาจจะตอบว่า....คุณ (อ่านออกเสียงว่า มึง) จะสงสัยไปทำไม (วะ) มันก็ไอ้เหมือนเดิมนั่นแหละ ถ้า คุณ คิดอย่างนั้น แสดงว่า ท่านยังไม่รู้จักฤทธิ์เดชของโลกไซเบอร์ ดีพอ

เราคงจะต้องยอมรับกันแล้วว่าโลกทุกวันนี้ มันมีเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ทุกวินาทีที่ผ่านไปย่อมหมายถึงความเปลี่ยนแปลง หลายท่านคงได้ยินคำว่า "เงิน ต่อ เงิน" หมายถึงว่า เงิน สามารถสร้างเงินให้เพิ่มขึ้นได้ตลอดเวลา เทคโนโลยีก็เช่นเดียวกัน ย่อมสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นตลอดเวลา และจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ เมื่อสิบปีที่แล้ว ใครเลยจะนึกว่าเด็กนักเรียนจะมีโทรศัพท์มือถือใช้กันเกือนทุกคน แต่เดี๋ยวนี้ใครไม่มีโทรศัพท์มือถือก็คงจะเชยเอามาก ๆ

ถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงนึกในใจว่า "มันจะเขียนเรื่องอะไรกันแน่" เข้าเรื่องซะที.......เดี๋ยวไม่อ่านเลย

ครับ! เข้าเรื่องแล้วครับ ที่จั่วหัวว่า "อนาคตเด็กไทย ก้าวใหม่ในไซเบอร์" จุดที่ต้องการเสนอคือ แนวคิดที่ว่า การเรียนการสอนในปัจจุบัน คงต้องเปลี่ยนรูปแบบให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะมีขึ้น เพราะถ้าไม่เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอน ณ บัดเดี๋ยวนี้ ก็เป็นที่แน่นอนว่าอีก 10 ปี นักเรียนที่จบไปจะไม่สามารถเข้าสู่สังคมได้อย่าง....อย่าง.....อย่าง....เนียน (ภาษาวัยรุ่นครับ) เพราะเหตุผลเป็นดั่งนี้

ในอนาคตการทำงานในภาคเอกชน (เน้นเอกชนนะครับ ไม่นับภาครัฐ ซึ่ง ยังไง ๆ ก็ยังตามไม่ทันอยู่ดี) จะอยู่ในโลกของไซเบอร์ คือทำงานผ่านระบบอินเทอร์เน็ตเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เช่น

- การค้าขาย ก็จะใช้ในรูปแบบของ e-Commerce
- การติดต่องานการส่งเอกสาร การพูดคุยสั่งการ ตารางนัดหมาย ต่าง ๆ ก็ใช้วิธีออนไลน์บนอินเทอร์เน็ต
- การติดตามข่าวสารบ้านเมือง ก็ e-news
- เรื่องเกี่ยวกับเงิน ๆ ทอง ๆ ก็ผ่านระบบการโอน ไม่ต้องมานั่งนับเงินสด
ฯลฯ

ทั้งหมด (ความจริงยังไม่หมด) ที่กล่าวมา ได้มีการใช้งานแล้วในภาคเอกชน ภาครัฐก็พยายามจะนำมาใช้บ้าง แต่ยังติดขัดอยู่หลายประการ ที่เห็น ๆ ก็เรื่องเอกสาร บางที่ส่งเอกสารทางอินเทอร์เน็ต แล้วยังต้องส่งฉบับจริงทางไปรษณีย์อีก การลงเวลาปฏิบัติราชการ ทำซะโก้เก๋ ใช้ลงเวลาด้วยการใช้บัตรบาร์โค้ด บางที่ก็ใช้พิมพ์นิ้วมือ แต่ที่ยังไม่เปลี่ยนคือ เมื่อพิมพ์นิ้วมือแล้ว เจ้าหน้าที่ยังต้อง Print Out ออกมาให้เจ้านายลงนามอีก.....

วันนี้เอาแค่นี้ก่อน ตอนต่อไปจะมาพูดถึงเรื่อง การเรียนการสอนของครู การบริหารงานของโรงเรียน จะเปลี่ยนไปให้ทันเทคโนโลยีได้อย่างไร
ถ้ายังไม่เบื่อโปรดติดตาม.......

เชลย


คำว่า "เชลย" ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามว่าหมายถึง "ผู้ที่ถูกข้าศึกจับตัวได้"
คนที่ถูกข้าศึกจับตัวได้จะต้องทำตามคำสั่งของข้าศึกทุกประการ ไม่มีสิทธิที่จะคิด จะพูด หรือโต้เถียงไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

ที่เอาคำว่า "เชลย" มาเกริ่นนำนี้ ก็เพราะมีความรู้สึกว่าทุกวันนี้ ข้าราชการไทย โดยเฉพาะ ครู บุคลากรทางการศึกษา กำลังตกอยู่ในฐานะ "เชลยของระบบ" โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

1. ระบบการบริหารงานในยุคปฏิรูปการศึกษา ที่แบ่งออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษา 175+3 นี้ ในรูปแบบก็น่าจะดี แต่การบริหารงาน ถ้าจะให้ประเมินก็คงได้ระดับ C- หรือ D ไปเลย (ความเห็นส่วนตัว ไม่ได้วิจัย) รูปแบบการบริหารที่กล่าวถึง ถ้าตามหลักการ ส่วนกลาง (สพฐ.) จะเป็นผู้กำหนดกรอบนโยบาย ต่าง ๆ ให้ สพท. เป็นผู้ปฏิบัติภารกิจ โดยคิดงานโครงการของตนเอง เพื่อสนองตอบให้บรรลุตามนโยบาย ต่าง ๆ สพฐ.จะเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน แต่.........ความเป็นจริง ในทางปฏิบัติ สพฐ.มีสำนัก(ไม่มีงาน) ต่าง ๆ หลายสำนัก แต่ละสำนักก็มีบุคลากรเป็นของตนเอง แต่บุคลากรจะมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญอยู่บ้างไม่มากนัก แต่ละสำนักก็คิดงาน โครงการของตนขึ้นมา พอถึงเวลาก็เสนอให้ผู้มีอำนาจสั่งการให้ สพท.เป็นผู้ดำเนินการ ตามที่ตนเองคิดไว้ (คงคิดว่าทาง สพท.คิดเองไม่เป็น) จะเห็นได้จากโครงการนำร่องต่าง ๆ ที่ไปลงยัง สพท. และ สพท. ก็จำเป็นต้องสั่งการไปยังโรงเรียน จนมีแต่ร่องเต็มเต็มโรงเรียนไปหมด สพท.เองก็ไม่สามารถปฏิบัติงานตามแผนงานที่ตนวางไว้ได้ เพราะมัวแต่ไปทำงานของสำนักทั้งหลายที่สั่งการมาแบบ ด๊วน ด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนใกล้สิ้นปีงบประมาณ จะเรียกบุคลากรของ สพท. ไปประชุมสัมมนา มอบงานกันจนไม่มีเวลาทำงานตามแผนของตนเอง

2. ระบบการพัฒนาความก้าวหน้าของครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่นับว่าเป็น นวัตกรรม ที่ภาคภูมิใจของผู้คิดค้นนวัตกรรมนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่หารู้ไม่ว่า นวัตกรรมที่ท่านคิด บังเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติมากมาย จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ คือ การกำหนดให้ บุคลากรที่จะส่งผลงาน ต้องผ่านการอบรมที่เรียกว่า "การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ" ใครไม่เข้าอบรมก็ไม่มีสิทธิส่งผลงาน เพราะถือว่า ไม่มีความรู้พอที่จะเขียนหรือส่งผลงาน (น่าขำจริง ๆ) หลักสูตรการอบรมก็ระบุไว้ตายตัวว่าต้อง 5 วัน ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาที่กำหนดไม่จำเป็นต้องอบรม อ่านเอาเองก็รู้เรื่อง หรือถ้าจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันก็ไม่ควรเกิน 1-2 วันระดับครูบาอาจารย์ จบปริญญาตรี ปริญญาโท บางท่านก็จบปริญญาเอก อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็แปลว่าคนเขียนข้อกำหนดต่าง ๆ ต้องพิจารณาตัวเอง

ที่หนักกว่านั้นคือ ทั่วประเทศมีครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องการส่งผลงานเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะนับหมื่นคน ก้ตองทิ้งห้องเรียนมาเข้ารับการอบรม ถ้าคิดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาพรวมแล้วน่าขนลุกครับ ตอนหลังก็บอกว่าให้จัดเฉพาะวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก็พอฟังได้ แต่ก็ต้องจัดกันยาวเลยละ กว่าจะจบหลักสูตร และผู้เข้าอบรมก็ต้องทิ้งครอบครัว ที่พึงต้องรับผิดชอบ และน่าจะเป็นวันครอบครัว ที่รัฐบาลรณรงค์กันอยู่ กลับต้องมานั่งฟังบรรยายหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่น่าจะอ่านเองรู้เรื่อง

ที่หนักรองลงมาคือ การอบรมต้องมีค่าใช้จ่าย เป็นค่า ห้องอบรมของโรงแรม ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่าง ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของวิทยากร (บางท่านต้องขึ้นเครื่องบินมา เพราะวิทยากรในท้องที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์พอ) ค่าเอกสาร ค่าวัสดุ ค่าเบี้ยเลี่ยงเจ้าหน้าที่ เก็บกันคนหนึ่งประมาณ 1,200-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้จัด เงินจำนวนนี้ผู้ที่เข้าอบรมต้องลงทะเบียนจ่ายเอง ถ้ามองว่าไม่มากก็ไม่มาก มองว่ามากก็มาก ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของแต่ละคน

เคยเปรยเรื่องนี้ให้วิทยากรบางคนฟัง ก็ได้รับคำชี้แจงว่า ก็ไม่ได้บังคับให้มาอบรมนี่ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ใครจะเข้าอบรมก็ได้ ไม่เข้าก็ได้ (แต่ถ้าไม่เข้าก็ไม่มีสิทธิ์ส่งผลงาน.....เลยได้แต่ ฮา...อยู่ในใจ ชี้แจงได้ตลกมากเลยละ)

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำว่า "เชลย" ขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่า ครู บุคลากรทางการศึกษา กำลังเป็น "เชลย ของระบบการศึกษาไทย" ไม่มีสิทธิคิด ไม่มีสิทธิทำ หรือมีสิทธิทำ แต่ไม่มีเวลาทำ ตามที่คิด ทำตามสิ่งที่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในหน่วยเหนือ คิดให้ ก็หมดเวลา สิ้นปีงบประมาณแล้ว

ที่กล่าวมาข้างต้น (อีกที) มิได้หมายความว่าผู้เขียน จะเป็น "ขบถ" (แปลว่า ผู้ทรยศ) ต่อระบบการศึกษา เพราะผู้เขียนก็ปฏิบัติตน ทำตามกติกาที่ท่านกำหนดมาทุกประการ

สวัสดี