07 สิงหาคม 2550

เชลย


คำว่า "เชลย" ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้นิยามว่าหมายถึง "ผู้ที่ถูกข้าศึกจับตัวได้"
คนที่ถูกข้าศึกจับตัวได้จะต้องทำตามคำสั่งของข้าศึกทุกประการ ไม่มีสิทธิที่จะคิด จะพูด หรือโต้เถียงไม่ว่ากรณีใด ๆ ทั้งสิ้น

ที่เอาคำว่า "เชลย" มาเกริ่นนำนี้ ก็เพราะมีความรู้สึกว่าทุกวันนี้ ข้าราชการไทย โดยเฉพาะ ครู บุคลากรทางการศึกษา กำลังตกอยู่ในฐานะ "เชลยของระบบ" โดยมีข้อสังเกต ดังนี้

1. ระบบการบริหารงานในยุคปฏิรูปการศึกษา ที่แบ่งออกเป็นเขตพื้นที่การศึกษา 175+3 นี้ ในรูปแบบก็น่าจะดี แต่การบริหารงาน ถ้าจะให้ประเมินก็คงได้ระดับ C- หรือ D ไปเลย (ความเห็นส่วนตัว ไม่ได้วิจัย) รูปแบบการบริหารที่กล่าวถึง ถ้าตามหลักการ ส่วนกลาง (สพฐ.) จะเป็นผู้กำหนดกรอบนโยบาย ต่าง ๆ ให้ สพท. เป็นผู้ปฏิบัติภารกิจ โดยคิดงานโครงการของตนเอง เพื่อสนองตอบให้บรรลุตามนโยบาย ต่าง ๆ สพฐ.จะเป็นเพียงผู้ให้การสนับสนุน แต่.........ความเป็นจริง ในทางปฏิบัติ สพฐ.มีสำนัก(ไม่มีงาน) ต่าง ๆ หลายสำนัก แต่ละสำนักก็มีบุคลากรเป็นของตนเอง แต่บุคลากรจะมีนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญอยู่บ้างไม่มากนัก แต่ละสำนักก็คิดงาน โครงการของตนขึ้นมา พอถึงเวลาก็เสนอให้ผู้มีอำนาจสั่งการให้ สพท.เป็นผู้ดำเนินการ ตามที่ตนเองคิดไว้ (คงคิดว่าทาง สพท.คิดเองไม่เป็น) จะเห็นได้จากโครงการนำร่องต่าง ๆ ที่ไปลงยัง สพท. และ สพท. ก็จำเป็นต้องสั่งการไปยังโรงเรียน จนมีแต่ร่องเต็มเต็มโรงเรียนไปหมด สพท.เองก็ไม่สามารถปฏิบัติงานตามแผนงานที่ตนวางไว้ได้ เพราะมัวแต่ไปทำงานของสำนักทั้งหลายที่สั่งการมาแบบ ด๊วน ด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนใกล้สิ้นปีงบประมาณ จะเรียกบุคลากรของ สพท. ไปประชุมสัมมนา มอบงานกันจนไม่มีเวลาทำงานตามแผนของตนเอง

2. ระบบการพัฒนาความก้าวหน้าของครู และบุคลากรทางการศึกษา ที่นับว่าเป็น นวัตกรรม ที่ภาคภูมิใจของผู้คิดค้นนวัตกรรมนี้เป็นอย่างยิ่ง แต่หารู้ไม่ว่า นวัตกรรมที่ท่านคิด บังเกิดความเสียหายแก่ประเทศชาติมากมาย จากเหตุการณ์ที่ผ่านมาสด ๆ ร้อน ๆ คือ การกำหนดให้ บุคลากรที่จะส่งผลงาน ต้องผ่านการอบรมที่เรียกว่า "การพัฒนาข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ก่อนแต่งตั้งให้มีหรือเลื่อนวิทยฐานะ" ใครไม่เข้าอบรมก็ไม่มีสิทธิส่งผลงาน เพราะถือว่า ไม่มีความรู้พอที่จะเขียนหรือส่งผลงาน (น่าขำจริง ๆ) หลักสูตรการอบรมก็ระบุไว้ตายตัวว่าต้อง 5 วัน ทั้ง ๆ ที่เนื้อหาที่กำหนดไม่จำเป็นต้องอบรม อ่านเอาเองก็รู้เรื่อง หรือถ้าจำเป็นต้องทำความเข้าใจกันก็ไม่ควรเกิน 1-2 วันระดับครูบาอาจารย์ จบปริญญาตรี ปริญญาโท บางท่านก็จบปริญญาเอก อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ก็แปลว่าคนเขียนข้อกำหนดต่าง ๆ ต้องพิจารณาตัวเอง

ที่หนักกว่านั้นคือ ทั่วประเทศมีครูและบุคลากรทางการศึกษา ต้องการส่งผลงานเพื่อเลื่อนวิทยะฐานะนับหมื่นคน ก้ตองทิ้งห้องเรียนมาเข้ารับการอบรม ถ้าคิดถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นในภาพรวมแล้วน่าขนลุกครับ ตอนหลังก็บอกว่าให้จัดเฉพาะวันหยุด เสาร์-อาทิตย์ ก็พอฟังได้ แต่ก็ต้องจัดกันยาวเลยละ กว่าจะจบหลักสูตร และผู้เข้าอบรมก็ต้องทิ้งครอบครัว ที่พึงต้องรับผิดชอบ และน่าจะเป็นวันครอบครัว ที่รัฐบาลรณรงค์กันอยู่ กลับต้องมานั่งฟังบรรยายหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ที่น่าจะอ่านเองรู้เรื่อง

ที่หนักรองลงมาคือ การอบรมต้องมีค่าใช้จ่าย เป็นค่า ห้องอบรมของโรงแรม ค่าอาหารกลางวัน ค่าอาหารว่าง ค่าตอบแทนวิทยากร ค่าใช้จ่ายในการเดินทางของวิทยากร (บางท่านต้องขึ้นเครื่องบินมา เพราะวิทยากรในท้องที่ไม่ศักดิ์สิทธิ์พอ) ค่าเอกสาร ค่าวัสดุ ค่าเบี้ยเลี่ยงเจ้าหน้าที่ เก็บกันคนหนึ่งประมาณ 1,200-3,000 บาท ขึ้นอยู่กับการจัดการของผู้จัด เงินจำนวนนี้ผู้ที่เข้าอบรมต้องลงทะเบียนจ่ายเอง ถ้ามองว่าไม่มากก็ไม่มาก มองว่ามากก็มาก ขึ้นอยู่กับสถานะทางการเงินของแต่ละคน

เคยเปรยเรื่องนี้ให้วิทยากรบางคนฟัง ก็ได้รับคำชี้แจงว่า ก็ไม่ได้บังคับให้มาอบรมนี่ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ ใครจะเข้าอบรมก็ได้ ไม่เข้าก็ได้ (แต่ถ้าไม่เข้าก็ไม่มีสิทธิ์ส่งผลงาน.....เลยได้แต่ ฮา...อยู่ในใจ ชี้แจงได้ตลกมากเลยละ)

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำว่า "เชลย" ขณะนี้ อาจกล่าวได้ว่า ครู บุคลากรทางการศึกษา กำลังเป็น "เชลย ของระบบการศึกษาไทย" ไม่มีสิทธิคิด ไม่มีสิทธิทำ หรือมีสิทธิทำ แต่ไม่มีเวลาทำ ตามที่คิด ทำตามสิ่งที่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ในหน่วยเหนือ คิดให้ ก็หมดเวลา สิ้นปีงบประมาณแล้ว

ที่กล่าวมาข้างต้น (อีกที) มิได้หมายความว่าผู้เขียน จะเป็น "ขบถ" (แปลว่า ผู้ทรยศ) ต่อระบบการศึกษา เพราะผู้เขียนก็ปฏิบัติตน ทำตามกติกาที่ท่านกำหนดมาทุกประการ

สวัสดี

ไม่มีความคิดเห็น: